ยิ่งพอมาถึง เดือน ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงที่โรคระบาด “โควิด-19” ได้ยกระดับความรุนแรง ทำให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศยิ่งลดลงมากขึ้น โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้น 68,271 คัน ลดลง 17.1% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 27,356 คัน ลดลง 15.6% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 40,915 คัน ลดลง 18.1%
ใน เดือน มี.ค. สถานการณ์ของ “โควิด-19” ยิ่งรุนแรง ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการคุมเข้มเพื่อหาทางป้องกันการระบาดของ “โควิด-19” มีการรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ขณะที่ในช่วงปลายเดือน มี.ค.ได้มีการประกาศ “เคอร์ฟิว” ห้ามออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
เป็นเหตุให้บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” ซึ่งเป็นงานมอเตอร์โชว์ใหญ่สุดประจำภูมิภาคอาเซียน ต้องเลื่อนการจัดงานออกไป จากเดิมที่จะจัดงานช่วงกลางเดือน มี.ค.มาเป็นช่วงกลางเดือน พ.ค.
ทำให้ตลาดรถยนต์รวมเดือน มี.ค.มียอดขายเหลือเพียง 60,105 คัน ลดลง 41.7% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 20,698 คัน ลดลง 48.3% และรถเพื่อการพาณิชย์ 39,407 คัน ลดลง 37.6% ทั้งที่ปกติตลาดรถยนต์ในเดือน มี.ค.ของทุกปีจะเป็นเดือนที่ทำยอดขายได้สูงมาก เพราะมีงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ มาช่วยกระตุ้นตลาด
ยิ่งใน เดือน เม.ย. ตลาดรถยนต์ในประเทศยิ่งลดฮวบ ตลาดรถยนต์รวมมียอดขายทั้งสิ้น 30,109 คัน ลดลงถึง 65% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 8,830 คัน ลดลง 74.7% และรถเพื่อการพาณิชย์ 21,279 คัน ลดลง 58.4%
ครั้นพอถึงเดือน พ.ค. สถานการณ์การระบาด “โควิด-19” ในประเทศ เริ่มคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ทางการเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศค่อยๆฟื้นตัว ผู้บริโภคเพิ่มความเชื่อมั่น
ส่งผลให้ตลาดรถยนต์เดือน พ.ค.มียอดขายรวมทั้งสิ้น 40,418 คัน ลดลง 54.1% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 11,733 คัน ลดลง 65.1% และรถเพื่อการพาณิชย์ 28,685 คัน ลดลง 47.4%
ใน เดือน มิ.ย. การระบาดของ “โควิด-19” ในประเทศไทยได้ลดลงจนไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ ผู้บริโภคหายจากอาการตื่นตกใจกับเรื่องของ “โควิด-19” ที่สำคัญทางการยังปลดล็อกมาตรการต่างๆให้กลับมาสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ จึงส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในประเทศเริ่มส่งสัญญาณในทางที่ดี
โดยยอดขายรถยนต์ประจำเดือน มิ.ย. มียอดขายรวมทั้งสิ้น 58,013 คัน ลดลงเพียง 32.6% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 20,768 คัน ลดลง 41.3% และรถเพื่อการพาณิชย์ 37,245 คัน ลดลง 26.4%
ฟ้าหลังฝนดูสดใส
เมื่อสถานการณ์การระบาด “โควิด-19” ในประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ทางการได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ
บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงาน “บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์” จึงประกาศด้วยความมั่นใจในการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-26 ก.ค. หลังจากที่ต้องเลื่อนการจัดงานไปถึง 3 ครั้ง
นายปราจิน เอี่ยมลำเนา ประธานบริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวหลังจบงานว่างานปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด มีประชาชนมาชมงานถึง 1,049,046 คน และยังทำยอดจอง ได้ถึง 22,791 คัน แบ่งเป็นรถยนต์ 18,381 คัน และรถจักรยานยนต์ 4,410 คัน
“นับว่ามีส่วนสำคัญในการปลุกตลาดรถยนต์ในประเทศไทยให้กลับมาสดใส และยังถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยปลุกเศรษฐกิจของประเทศกลับมาคึกคัก”
จากความสำเร็จของงานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ และการที่สถานการณ์ “โควิด-19” คลี่คลาย ทำให้ นายมิจิโนบุ ซึงาตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้แถลงเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมาว่ายอดขายรายเดือนในไทยของช่วงไตรมาสที่ 2 เห็นได้ว่าตลาดกำลังอยู่ในช่วงค่อยๆฟื้นตัว อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น
สำหรับตลาดรถช่วงครึ่งปีหลังนี้ นายซึงาตะกล่าวว่า ในส่วนของภาคธุรกิจยานยนต์ของประเทศไทยนั้น ผลกระทบที่ได้รับยังถือว่าไม่รุนแรงเท่ากับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน และการฟื้นตัวของประเทศไทยดูจะรวดเร็วกว่า ดังนั้น แนวโน้มของตลาดรถยนต์ไทยน่าจะไปในทิศทางที่ดี และสถานการณ์จะไม่แย่เท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ โตโยต้าหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวให้กับทวีปเอเชียทั้งหมดในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้
“นอกจากแนวโน้มเชิงบวกที่เห็นได้จากยอดขายรายเดือนแล้ว ประเทศไทยยังประสบความสำเร็จในการจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ซึ่งมีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมงานเป็นจำนวนมาก และเมื่อพิจารณาสัญญาณบวกเหล่านี้แล้ว จึงได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ยอดขายรถยนต์ในปี 2563 เป็น 660,000 คัน คิดเป็น 65% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา”
พร้อมแปรวิกฤติเป็นโอกาส
จากการระบาดของ “โควิด-19” ในประเทศไทยซึ่งได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทางการได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ จนเศรษฐกิจกลับมาคึกคัก ตลาดรถยนต์ในประเทศเริ่มฟื้นตัวได้ทำให้บริษัทรถยนต์ต่างๆได้มีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่จากภาวะวิกฤตินี้
นางปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้ประกาศการผ่อนคลายเป็นระยะๆแล้ว แต่บริษัทยังคงดำเนินการตามมาตรการต่างๆที่รัฐบาลกำหนดอย่างเคร่งครัดมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทให้สอดคล้องกับลักษณะ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ “นิวนอร์มอล” โดยคำนึงถึงการทำธุรกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พนักงาน ลูกค้าอีซูซุ ผู้จำหน่ายทั่วประเทศ รวมถึงธุรกิจใหม่ของกลุ่มตรีเพชรคือรถมือสอง
โดยได้งดการจัดกิจกรรมการตลาดต่างๆ ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ปีนี้เป็นต้นมา แต่ปรับเปลี่ยนเป็นการเน้นให้ผู้จำหน่ายอีซูซุจัดกิจกรรมการตลาด “ออนไลน์” ในหลากหลายรูปแบบและบริษัทให้ความสำคัญกับมาตรการด้านสุขอนามัย รวมถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
“กลุ่มตรีเพชรเชื่อมั่นว่าองค์กรของเรามี “ความยืดหยุ่น” สูง จึงสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงมั่นใจว่าภายใต้การบริหารในรูปแบบ “นิวนอร์มอล” นี้ จะยังคงทำให้อีซูซุสามารถตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี”
อีกทั้งการลงทุนด้าน Digital Transformation หรือ “แผนยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” ไปก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติ
“โควิด-19” ยังเป็นการสร้างประสิทธิภาพใหม่ให้แก่ธุรกิจอีซูซุ ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นจากการใช้รถอีซูซุ ขณะเดียวกันก็สามารถแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆได้ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในยุค “นิวนอร์-มอล” ไว้ให้ได้เช่นเดียวกับความสำเร็จตลอดระยะเวลาอันยาวนานถึง 63 ปีของธุรกิจอีซูซุในประเทศไทยก่อนที่จะเกิดวิกฤติครั้งนี้
ด้าน นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของฮอนด้าช่วงครึ่งปีหลังนี้จะมุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้ายุคใหม่ โดยด้านการขายและการตลาดเพิ่มความเข้มข้นด้านการตลาดออนไลน์ เช่นเดียวกับการบริการหลังการขาย ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตของลูกค้าแบบ “นิวนอร์มอล”
“และได้ลงทุนด้าน Digital Transformation เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งขององค์กร โดยนำดิจิทัล เทคโนโลยีมาใช้”
ศูนย์บริการคือหัวใจ
ขณะที่ นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ “โควิด-19” ส่งผลให้ช่องทางออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือหลักในการประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินต่อไป มาสด้าจึงได้พัฒนาระบบออนไลน์ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ผู้จำหน่าย พันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงการปฏิบัติงานของพนักงานมาสด้าทุกคนให้สามารถรองรับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยการจองผ่านระบบออนไลน์ “สกาย บุ๊กกิ้ง”
“ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามาสด้าให้ความสำคัญในเรื่องของการให้บริการหลังการขาย เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น ทำให้ในช่วง “โควิด-19” มีการล็อกดาวน์ประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดขายรถ แต่ในส่วนของศูนย์บริการกลับมีผู้มาใช้บริการมากขึ้น”
ด้าน นายอภิเชต สีตกะลิน ประธานกรรมการบริษัท โคเรีย-มอเตอร์ จำกัด หนึ่งในดีลเลอร์หรือผู้จำหน่ายรถยนต์เกีย และฮุนไดบัส โดยมี 2 โชว์รูม คือที่รังสิต และพระราม 2 ครองตำแหน่งดีลเลอร์ยอดขายสะสมสูงสุดของเกียมาโดยตลอด กล่าวว่า จากวิกฤติ “โควิด-19” ครั้งนี้ ทำให้ทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “ดิจิทัล” และ “ออนไลน์” มากขึ้น จะมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้มาปรับกับธุรกิจของตน
ในส่วนของธุรกิจรถยนต์จะหันมาลงทุนเรื่องดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน กลายเป็นการสร้างโชว์รูมแห่งใหม่บนมือถือ เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการขายรถยนต์ เพราะจะเป็นหน้าร้านที่คนเข้าถึงได้ง่าย
“ขณะเดียวกันในส่วนของการลงทุนเรื่องศูนย์บริการหลังการขายก็เป็นเรื่องสำคัญ เห็นได้จากในช่วง “โควิด-19” ที่รายได้จากการขายรถได้ลดวูบลง แต่ยังดีที่มีรายได้จากศูนย์บริการมาช่วยหล่อเลี้ยง ดังนั้นหากผู้จำหน่ายรายใดที่ไม่มีเรื่องการบริการหลังการขาย หรือไม่ได้ลงทุนในเรื่องศูนย์บริการ ก็อาจจะหืดจับ”
จากสถานการณ์การระบาดของ “โควิด-19” ได้เร่งเร้าให้บรรดาบริษัทรถยนต์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ในการลงทุนด้าน “ดิจิทัล” เพื่อใช้เทคโนโลยีมามีส่วนร่วมในธุรกิจให้สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ขณะที่การลงทุนด้านการบริการหลังการขายก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง!
ทีมเศรษฐกิจ
August 03, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/30n09nA
ธุรกิจรถยนต์ปรับตัวครั้งใหญ่ พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่โลก "ดิจิทัล" รับมือ "โควิด-19” - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2xc7kDp
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ธุรกิจรถยนต์ปรับตัวครั้งใหญ่ พร้อมเปลี่ยนผ่านสู่โลก "ดิจิทัล" รับมือ "โควิด-19” - ไทยรัฐ"
Post a Comment